มลพิษทางอากาศ (Air Pollution) หมายถึง ภาวะของอากาศที่มีสารเจือปนอยู่ในปริมาณที่มากพอ และเป็นระยะเวลานานพอที่จะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ อนามัยของมนุษย์ สัตว์ พืช และวัสดุต่างๆ สารดังกล่าวอาจเป็นธาตุหรือสารประกอบ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติหรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์ หรืออาจอยู่ในรูปของก๊าซ หยดของเหลว หรืออนุภาคของแข็งก็ได้ สารมลพิษทางอากาศหลักที่สำคัญคือ ฝุ่นละออง (SPM) ตะกั่ว (Pb) ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) (กรมควบคุมมลพิษ)
คนส่วนใหญ่มักคิดว่ามลพิษทางอากาศต้องเป็นอะไรที่เกี่ยวกับ ควัน ฝนกรด สาร CFC หรือสารพิษรูปแบบต่างๆที่มักเกิดขึ้นภายนอกบ้าน ความจริงมลพิษทางอากาศบางประเภทอาจอยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ เช่น การเกิดฝุ่นฟุ้งจากพายุทะเลทราย หรือควันพิษที่เกิดจากไฟไหม้ป่า ซึ่งแหล่งที่ก่อให้เกิดมลพิษอาจจะมีอยู่ไม่กี่แห่งแต่สามารถส่งผลกระทบไปได้ทั่วทั้งบริเวณใกล้เคียงเช่น หลังการเกิดภูเขาไฟระเบิดจะพบว่ามีกลุ่มควันและขี้เถ้าฟุ้งกระจายไปทั่วชั้นบรรยากาศ
นอกจากนั้นมลพิษทางอากาศสามารถเกิดขึ้นได้ภายในบ้านเรือนที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่ภายในอาคารสำนักงานและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ควันจากการสูบบุหรี่หรือการทำอาหาร เป็นต้น
ซึ่งเราสามารถระบุตัวสารพิษแหล่งที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับร่างกายหากได้รับสารพิษดังกล่าวได้ดังนี้
ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ (CO): เป็นก๊าซที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิงที่มีคาร์บอนเป็นส่วนประกอบ เช่น น้ำมันปิโตรเลียม น้ำมันดีเซล หากร่างกายเราได้รับก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ในปริมาณที่มากจะส่งผลให้เกิดอาการมึน งง และง่วงนอนเนื่องจากก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์นี้จะไปจับตัวกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดทำให้ปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำลงนั่นเอง
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2): เป็นก๊าซเรือนกระจกชนิดหนึ่งที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากการทำกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้ของถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติหรือการเผาไหม้เชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมและรถยนต์ เป็นต้น ซึ่งหากร่างกายได้รับก๊าซนี้ในปริมาณที่มากจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ วิงเวียน คลื่นไส้หรืออาเจียนได้
ก๊าซคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFCS): เป็นก๊าซก๊าซเรือนกระจกชนิดหนึ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ส่วนมากจะเกิดจากกิจกรรมทางด้านอุตสาหกรรมของมนุษย์เช่น การสร้างเครื่องทำความเย็นหรือการผลิตสเปรย์ เมื่อสาร CFCS ถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศจะส่งผลทำลายชั้นโอโซนซึ่งเป็นชั้นที่ช่วยป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ไม่ให้แผ่ลงมาสู่โลกได้ในปริมาณที่มากเกินไป ดังนั้นหากชั้นโอโซนถูกทำลายจะส่งผลให้รังสีดังกล่าวแผ่ลงมายังโลกได้มากจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์คือทำให้มีโอกาสที่จะเกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้
ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOX): ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงประเภทน้ำมันดีเซล น้ำมันปิโตรเลียมและถ่านหินซึ่งก๊าซดังกล่าวเป็นสาเหตุทำให้เกิดหมอก ควันและฝนกรด นอกจากนั้นยังทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจได้หากได้รับในปริมาณที่มาก
อนุภาคของสารแขวนลอยในอากาศ (Suspended particulate matter): ประกอบไปด้วยฝุ่น ควัน หมอกและไอน้ำซึ่งลอยปะปนอยู่ในชั้นบรรยากาศ สารแขวนลอยเหล่านี้ส่งผลทำให้ทัศนะวิสัยในการมองเห็นลดลงอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้ และถ้าเราสูดดมเอาสารพวกนี้เข้าไปในปริมาณที่มากอาจก่อให้เกิดอาการปอดอักเสบได้
ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2): เกิดจากการเผาไหม้ของถ่านหิน โรงงานผลิตไฟฟ้าหรือเกิดจากกระบวนการทางอุตสาหกรรมบางประเภทเช่น อุตสาหกรรมการทำกระดาษ อุตสาหกรรมทำโลหะ ซึ่งก๊าซดังกล่าวเป็นสาเหตุทำให้เกิดหมอก ควันและฝนกรด ในด้านผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์จะทำให้เกิดอาการหอบ หรือติดเชื้อในปอดได้