in

ขนมฝักบัว

ขนมไทยมีหลากหลายชนิด มีทั้งขนมที่ต้องทำอย่างประณีตประดิดประดอยและขนมพื้นบ้านที่ทำอย่างง่ายๆ ในที่นี้จะขอกล่าวถึงขนมไทยแบบบ้านๆที่หาได้ในตลาดท้องถิ่นคือขนมดอกบัวหรือ “ขนมฝักบัว”
ขนมดอกบัวหรือขนมฝักบัวเป็นชื่อที่คนภาคกลางใช้เรียกกัน คนภาคใต้เรียก “จูจุ่น” ชาวเขมรสุรินทร์เรียก “ขนมโช้ก” นิยมใช้ในพิธีแต่งงานและพิธีการต่างๆเนื่องจากขนมชนิดนี้มีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรือง ความก้าวหน้า และโชคลาภ สูตรดั้งเดิมแต่โบราณคือ แป้งข้าวเจ้า น้ำตาลปี๊บหรือน้ำตาลมะพร้าว และกะทิ ปัจจุบันมีการดัดแปลงโดยใส่น้ำใบเตยแทนน้ำเปล่าทำให้เป็นสีเขียวสวยน่ารับประทาน บางครั้งมีการใช้สีจากธรรมชาติสีอื่นๆ ลักษณะที่ดีของขนมฝักบัวคือแป้งนุ่มขอบขนมต้องกระดกขึ้นมาโดยที่ตรงกลางนูนและนุ่ม รสชาติหวาน และด้านล่างของขนมเป็นใยเหมือนสายบัว
ลักษณะของขนมฝักบัวในตลาดพื้นบ้านภาคอีสานมีความแตกต่างออกไปคือมีขอบสีน้ำตาลเข้มให้สัมผัสที่กรอบกำลังดี ตัดกับเนื้อแป้งหอมนุ่มสีเขียวอ่อนที่นูนขึ้นตรงกลาง รสชาติหวานมัน สามารถทานได้อย่างเพลิดเพลิน ปัจจุบันเป็นขนมที่หาทานได้ยากแต่สามารถทำทานได้ภายในครัวเรือนอีกทั้งวิธีการทำไม่ยุ่งยาก หากคนในครอบครัวใช้เวลาร่วมกันในการทำขนมชนิดนี้ทาน นอกจากจะเป็นการอนุรักษ์ขนมไทยไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลาแล้วยังทำให้ความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวแนบแน่นเหมือนสายใยของขนมดอกบัวด้วย
วัตถุประสงค์
1)เป็นขนมที่สามารถหารับประทานได้ยากในปัจจุบัน จึงอยากทำขนมเพื่อให้ลูกหลานได้สืบทอดไว้
2) เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว
วัสดุ/อุปกรณ์
1) แป้งข้าวเจ้า 2 ถ้วย
2) แป้งข้าวเหนียว ¼ ถ้วย
3) น้ำตาลทราย ½ ถ้วย
4) น้ำมัน 2 ถ้วย
5) น้ำใบเตย ¼ ช้อนชา
6) น้ำสะอาด ½ ถ้วย
7) เกลือเล็กน้อย
กระบวนการ/ขั้นตอน (ทำอย่างไร)
1) เทแป้งทั้งสองชนิดกันรวมกัน ละลายน้ำตาล เกลือ และน้ำใบเตยในน้ำสะอาดคนให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันจนเป็นครีมข้นเข้ากันดี และตั้งพักไว้
2) ตั้งกระทะใส่น้ำมัน ควรใช้กระทะก้นลึกใบเล็กๆ รอจนน้ำมันร้อน ตักแป้งหยอดลงในกระทะทอด ทีละชิ้น คอยตักน้ำมันรดบนขนมให้ทั่วระหว่างทอด พอขอบขนมเริ่มสุกเหลืองกรอบ จึงพลิกกลับอีกข้างทอดให้สุกทั่วดี แล้วจึงตักขึ้นให้สะเด็ดน้ำมัน
คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อองค์ความรู้เรื่องนี้
1)คุณค่าขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม
– เป็นการรักษาสืบสานขนมไทยโบราณให้คงอยู่
– มีความรู้เกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์และขั้นตอนการทำขนมไทย (ขนมฝักบัว) เพิ่มขึ้น
2)บทบาทของชุมชนในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม
– เพี่อให้ประชาชนในท้องถิ่น ได้มีความรู้ขนมไทยโบราณที่หาทานได้ยากในปัจจุบัน
– เพี่อส่งเสริมการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน
การส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม
– ได้รับการส่งเสริม สนับสนุนจากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร เข้าร่วมกิจกรรมสาธิตการทำขนมไทยพื้นบ้าน งานหลวงพ่อเขียน (สาธิตการทำขนมฝักบัว) ในงานสักการะหลวงพ่อเขียน เยี่ยมเยียนดงเจริญ ประจำปี พ.ศ. 2563
สถานภาพปัจจุบัน
1)สถานะการคงอยู่ขององค์ความรู้ :มีการปฏิบัติอย่างแพร่หลาย
2)สถานภาพปัจจุบันของการถ่ายทอดความรู้และปัจจัยคุกคาม
-สถานการณ์ปัจจุบันของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา COVID -19 ทำให้ไม่สามารถทำขนมฝักบัวขายได้เหมือนเดิม