ประโยชน์ของมันแกวต่อสุขภาพ
สารอาหารที่หลากหลายของมันแกวอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพในด้านต่อไปนี้
1. รักษาการทำงานของหัวใจ
หัวใจเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดเพื่อหล่อเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ หากหัวใจอ่อนแอก็อาจส่งผลต่ออวัยวะอื่นและสุขภาพ ซึ่งการอักเสบและการเสื่อมของเซลล์เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ รวมทั้งอาจนำไปสู่โรคหัวใจและหลอดเลือดได้
มันแกวเป็นพืชหัวที่มีปริมาณไฟเบอร์หรือใยอาหารที่ค่อนข้างสูง โดยมันแกวปริมาณ 130 กรัมอาจมีไฟเบอร์ราว 6.4 กรัมหรือราว 1 ส่วน 4 ของปริมาณไฟเบอร์ที่ควรได้รับต่อวัน
การศึกษาจำนวนหลายชิ้นที่ทดลองเกี่ยวกับคุณสมบัติของไฟเบอร์พบว่าการได้รับไฟเบอร์อย่างเพียงพอเป็นประจำอาจลดปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (Low-Density Lipoprotein: LDL) ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนจึงเชื่อว่าไฟเบอร์เป็นสารอาหารชนิดหนึ่งที่ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
ด้วยเหตุนี้การได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างไฟเบอร์ที่พบมากในมันแกว อาจช่วยรักษาการทำงานของหัวใจและลดความเสี่ยงของโรคหัวใจได้
2. ช่วยต้านสารอนุมูลอิสระ
สารอนุมูลอิสระ (Free radicals) เป็นสารภายในร่างกายที่เกิดจากการเผาผลาญพลังงานตามธรรมชาติของร่างกาย ซึ่งเมื่อสารอนุมูลอิสระมีปริมาณสูงก็จะส่งผลให้เซลล์อักเสบ เสียหาย และเพิ่มความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพ นอกจากนี้ปัจจัยภายนอกอย่างความเครียด แสงแดด และมลพิษก็จะกระตุ้นให้สารอนุมูลอิสระเพิ่มขึ้นได้
มันแกวเป็นพืชที่มีปริมาณวิตามินซีค่อนข้างสูง โดยมันแกวปริมาณ 130 กรัมอาจให้วิตามินซีประมาณ 44 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณวิตามินซีที่ควรได้รับต่อวัน วิตามินซีหรือกรดแอสเคอร์บิก (Ascorbic Acid) จัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่ง
สารชนิดนี้จะช่วยปรับสมดุลของสารอนุมูลอิสระของร่างกาย มีสรรพคุณต้านการอักเสบ ลดความเสียหายของเซลล์ และช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ที่เป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพหลาย ๆ อย่าง
3. เพิ่มการทำงานของระบบขับถ่าย
อย่างที่ทราบกันดีว่ามันแกวมีไฟเบอร์สูง และหลายคนคงเคยได้ยินมาว่าไฟเบอร์มีส่วนช่วยในกระบวนการการขับถ่ายและบรรเทาอาการท้องผูก มาดูกันว่าไฟเบอร์จะช่วยลดอาการท้องผูกได้อย่างไร
ไฟเบอร์มีคุณสมบัติเพิ่มมวลอุจจาระและดึงน้ำเข้าสู่อุจจาระทำให้อุจจาระนิ่มและขับถ่ายออกมาได้ง่ายขึ้น ซึ่งการได้รับไฟเบอร์จากมันแกวอาจมีประโยชน์มากกว่านั้น เพราะในมันแกวมีไฟเบอร์ที่ชื่อ อินูลิน (Inulin) เป็นส่วนประกอบ จากรายงานทางวิทยาศาสตร์พบว่าอินูลินอาจช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ เมื่อลำไส้ขยับบ่อยขึ้นจึงอาจเร่งอัตราการขับถ่ายและลดอาการท้องผูกได้ นอกจากนี้ มันแกวเป็นพืชที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ เมื่อรับประทานเข้าไปจึงทำให้ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
4. รักษาการทำงานของระบบย่อยอาหาร
มันแกวและไฟเบอร์ในมันแกวไม่ได้มีประโยชน์ต่อระบบขับถ่ายเพียงเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อลำไส้ในด้านอื่นด้วย โดยเฉพาะระบบย่อยอาหาร
เดิมที ภายในลำไส้ของมนุษย์มีแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์มีประโยชน์อาศัยอยู่หรือที่บางคนคุ้นกับคำว่าโพรไบโอติกส์ (Probitocs) สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กเหล่านี้มีหน้าที่ช่วยรักษาการทำงานของร่างกายหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นระบบภูมิคุ้มกัน ระบบขับถ่าย และระบบย่อยอาหาร
เมื่อโพรไบติกส์อ่อนแอหรือลดลงก็อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ โดยสิ่งที่จะช่วยเพิ่มจำนวนและเพิ่มความแข็งแรงของโพรไบโอติกส์ คือ พรีไบโอติกส์ (Prebiotics) ซึ่งเป็นไฟเบอร์รูปแบบหนึ่งที่เป็นอาหารของโพรไบโอติกส์
พรีไบโอติกส์หาได้จากผักผลไม้ทั่วไป โดยอินูลินก็เป็นพรีไบโอติกส์ชนิดหนึ่งจึงอาจช่วยเพิ่มจำนวนและความแข็งแรงของโพรไบโอติกส์ ซึ่งส่งผลให้แบคทีเรียภายในลำไส้สมดุลขึ้น ช่วยในการย่อยอาหาร เพิ่มการดูดซึมสารอาหาร รวมทั้งลดความเสี่ยงของปัญหาลำไส้ เช่น ท้องผูก ท้องเสีย และอาหารไม่ย่อย
5. ลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้
โรคมะเร็งลำไส้เป็นโรคเรื้อรังและร้ายแรงที่เกิดได้จากหลายสาเหตุและปัจจัย เช่น พันธุกรรม พฤติกรรมการใช้ชีวิต โรคประจำตัว เป็นต้น อีกทั้งในปัจจุบัน แพทย์ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคมะเร็ง แต่ในเบื้องต้นพบว่าโรคมะเร็งหลายชนิดมีการกลายพันธุ์ของเซลล์ ซึ่งการกลายพันธุ์อาจมีปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากภาวะอักเสบของเซลล์ ดังนั้น การตัดปัจจัยที่กระตุ้นให้เซลล์อักเสบก็อาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งได้
จากงานวิจัยพบว่าการได้รับไฟเบอร์เป็นประจำอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งลำไส้ได้ ซึ่งการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่ทดลองให้คนสองกลุ่มรับประทานไฟเบอร์ในปริมาณที่แตกต่างกัน กลุ่มแรกรับประทานไฟเบอร์มากกว่า 27 กรัมต่อวัน อีกกลุ่มรับประทานไฟเบอร์น้อยกว่า 11 กรัมต่อวัน พบว่ากลุ่มที่ได้รับไฟเบอร์มากกว่ามีแนวโน้มที่เกิดโรคมะเร็งลำไส้น้อยกว่าอีกกลุ่มราว 50 เปอร์เซ็นต์