หอยนางรม ประโยชน์ต่อสุขภาพ
กระตุ้นระบบสืบพันธุ์ และเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ
หอยนางรมขึ้นชื่อด้านเป็นยากระตุ้นสมรรถภาพทางเพศตามธรรมชาติ เนื่องจากหอยนางรมอุดมไปด้วยแร่สังกะสีที่ช่วยกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะเพศได้ดีขึ้น และหากผู้หญิงขาดแร่สังกะสีอาจกระทบต่อระบบสืบพันธุ์โดยอาจทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ ชะลอการผลิตไข่ที่มีคุณภาพดี และทำให้ฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเทอโรนลดต่ำลงด้วย
จึงเชื่อว่าการบริโภคหอยนางรมอาจช่วยเพิ่มแร่สังกะสีซึ่งเป็นประโยชน์ต่อระบบสืบพันธุ์ และยังกระตุ้นอารมณ์ทางเพศหรือเพิ่มสมรรถภาพทางเพศได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง จึงมีงานวิจัยหลายชิ้นที่ค้นคว้าในด้านนี้
มีงานค้นคว้าหนึ่งในอดีตเปิดเผยว่า การบริโภคหอยนางรม หอยเชลล์ และหอยกาบช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนและฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเทอโรน ซึ่งการเพิ่มระดับของฮอร์โมนดังกล่าวอาจทำให้ผู้ทดลองหลายรายมีความต้องการทางเพศเพิ่มสูงขึ้น และยังมีงานวิจัยที่พบว่าสารสกัดจากหอยนางรมอาจช่วยกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศและเพิ่มความทนทานในขณะมีเพศสัมพันธ์ได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม การศึกษาคุณสมบัติในด้านนี้ของหอยนางรมยังมีจำกัดและล้วนเป็นงานค้นคว้าเก่า ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรระมัดระวังในการรับประทานหอยนางรม และควรรับประทานอาหารอย่างหลากหลายเพื่อให้ได้สารอาหารอย่างครบถ้วน ซึ่งนอกจากหอยนางรม ผู้บริโภคยังสามารถได้รับธาตุสังกะสีจากอาหารชนิดอื่น ๆ ได้เช่นกัน เช่น ผลิตภัณฑ์จากนม ถั่ว ไข่ ธัญพืช เนื้อสัตว์ปีก เนื้อวัว เป็นต้น
ลดระดับไขมันในเลือด
ภาวะไขมันในเลือดสูงอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคและการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาสุขภาพเรื้อรังหรือร้ายแรงตามมาได้ หอยนางรมเป็นอาหารที่มีไขมันต่ำ จึงคาดว่าการบริโภคหอยนางรมอาจช่วยลดหรือควบคุมระดับไขมันในเลือด
จากการค้นคว้าที่ผ่านมา มีการใช้สารสกัดจากหอยนางรมกับหนูทดลองที่มีไขมันในตับแล้วพบว่า สารสกัดจากหอยนางรมมีคุณสมบัติช่วยลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ลง รวมถึงช่วยลดระดับความดันโลหิตลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับอีกกลุ่มที่ไม่ได้รับสารสกัดนี้
ส่วนงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ศึกษาประสิทธิผลของเปลือกหอยนางรม พบว่าสารสกัดเอทานอลจากเปลือกหอยนางรมช่วยลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้ แต่ไม่มีผลต่อการลดระดับไขมันคอเลสเตอรอล และคาดว่าหอยนางรมยังอาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาหรือป้องกันภาวะระบบเผาผลาญของร่างกายทำงานผิดปกติได้ด้วย
แม้มีการศึกษาบางส่วนพิสูจน์ประสิทธิผลของหอยนางรมด้านการลดระดับไขมันในเลือด แต่ยังขาดงานวิจัยสนับสนุนที่ค้นคว้าทดลองในมนุษย์ จึงควรศึกษาด้านนี้ให้ชัดเจนต่อไป เพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในอนาคต
ลดระดับความดันโลหิต
ความดันโลหิตสูงเป็นภาวะความดันเลือดภายในหลอดเลือดแดงสูงกว่าปกติตลอดเวลา หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องจะส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงตามมาจนอาจถึงแก่ชีวิตได้ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจึงต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษรวมไปถึงเรื่องอาหารการกินด้วย โดยมีงานค้นคว้าบางส่วนที่คาดว่าหอยนางรมอาจช่วยลดระดับความดันโลหิตได้
การวิจัยหนึ่งที่ทดสอบประสิทธิภาพในการลดระดับความดันโลหิตของหอยนางรมในหนูทดลอง พบว่าการใช้สารสกัดโพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharide) จากหอยนางรมช่วยลดระดับความดันโลหิตของหนูทดลองที่มีภาวะความดันโลหิตสูงได้ โดยสามารถลดระดับได้ทั้งความดันตัวบน (Systolic) และความดันตัวล่าง (Diastolic) ส่วนอีกการวิจัยหนึ่งที่ทดลองใช้สารสกัดจากหอยนางรมที่มีคุณสมบัติคล้ายยาลดความดันกลุ่ม ACEI กับหนูทดลองที่มีระดับความดันโลหิตสูง ก็พบว่าสารดังกล่าวช่วยลดระดับความดันโลหิตตัวบนได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม งานค้นคว้าดังกล่าวเป็นเพียงงานทดลองในสัตว์ จึงควรมีการศึกษาเพิ่มเติมโดยทดลองในคน เพื่อประยุกต์ใช้หอยนางรมเพื่อรักษาผู้ป่วยความดันโลหิตสูงได้ต่อไป