in

ประโยชน์ปลาหมึกต่อสุขภาพ

Special Grilled fresh squids in open market of Thailand

ประโยชน์ปลาหมึกต่อสุขภาพ
ปลาหมึกมีหลากหลายสายพันธุ์ แต่ที่นิยมนำมาบริโภค ได้แก่ ปลาหมึกกล้วย ปลาหมึกกระดอง และปลาหมึกสาย โดยตัวอย่างสารอาหารที่ได้จากปลาหมึกกล้วยสดที่หนัก 85 กรัม ได้แก่ โปรตีน 13.2 กรัม ไขมันคอเลสเตอรอล 198 มิลลิกรัม ไขมันอิ่มตัว 0.3 กรัม ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว 0.09 กรัม และไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน 0.4 กรัม

แม้จะอุดมไปด้วยไขมัน แต่ปลาหมึกก็มีโปรตีนสูง ซึ่งเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยสร้างความแข็งแรงแก่ร่างกาย ช่วยในการทำงานของกระดูก กล้ามเนื้อ และผิวหนัง และไขมันบางชนิดที่พบในปลาหมึกก็เป็นไขมันที่มีประโยชน์ต่อร่างกายด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม มีการค้นคว้าเกี่ยวกับปลาหมึกในแง่ของประโยชน์และผลกระทบต่อสุขภาพไว้ ดังนี้

ปลาหมึก เพิ่มไขมันดี ลดไขมันเลว

ภาวะไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดสูงอาจเป็นอันตรายต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด และนำไปสู่การเกิดโรคร้ายต่าง ๆ ตามมาได้ ปลาหมึกเป็นอาหารที่มีไขมันหลายชนิดโดยเฉพาะไขมันคอเลสเตอรอล หลายคนจึงเกรงว่าการบริโภคปลาหมึกอาจเสี่ยงทำให้มีภาวะไขมันในเลือดสูงได้

แต่จากการวิจัยในอดีตที่ให้ผู้ชายซึ่งมีระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ 18 คน บริโภคอาหารทะเลที่แตกต่างกัน 6 ชนิด คือ ปลาหมึกกล้วย ปู กุ้ง หอยนางรม หอยแมลงภู่ และหอยกาบ พบว่าปลาหมึกกล้วยและกุ้งมีไขมันคอเลสเตอรอลสูงกว่าอาหารชนิดอื่น ในขณะที่มีไขมันโอเมก้า 3 ต่ำกว่า และไม่พบการเปลี่ยนแปลงของระดับไขมันในเลือดของผู้บริโภค ยิ่งไปกว่านั้น ปลาหมึกกล้วย หอยแมลงภู่ และหอยนางรมช่วยเพิ่มไขมันคอเลสเตอรอลชนิดที่ดี (HDL) ให้แก่ร่างกาย ซึ่งไขมันชนิดนี้จะช่วยกำจัดคอเลสเตอรอลส่วนเกินออกไปด้วย

ส่วนอีกงานวิจัยที่ศึกษาโดยให้หนูทดลองบริโภคสารสกัดจากปลาหมึกกล้วยเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ผลการทดลองพบว่า สารจากปลาหมึกกล้วยมีประสิทธิภาพในการลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ลงประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ และลดไขมันคอเลสเตอรอลลงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ในกลุ่มหนูทดลองที่บริโภคสารดังกล่าวเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้บริโภคสารนี้ โดยสารสกัดจากปลาหมึกช่วยลดการดูดซึมกรดน้ำดีในลำไส้เล็กและยับยั้งการสร้างไขมันในตับด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ปลาหมึกอาจมีไขมันชนิดที่ดีที่ช่วยลดระดับไขมันไม่ดีในร่างกายได้ แต่ยังคงต้องศึกษากลไกในการลดระดับไขมันร่างกายจากการบริโภคปลาหมึกให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อนำผลลัพธ์ไปประยุกต์ใช้เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพได้จริงในอนาคต ดังนั้น ขณะนี้ผู้บริโภคควรรับประทานปลาหมึกในปริมาณพอเหมาะ เพราะหากบริโภคปริมาณมากอาจเสี่ยงมีไขมันสะสมในร่างกายมากเกินไป เพราะในปลาหมึกมีไขมันอิ่มตัวและไขมันชนิดอื่น ๆ อยู่ด้วยเช่นกัน

ปลาหมึก ลดความดันโลหิต

ความดันโลหิตสูงเป็นภาวะความดันเลือดภายในหลอดเลือดแดงสูงกว่าปกติตลอดเวลา หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงตามมา เช่น โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งภาวะนี้มักเกิดขึ้นอย่างเรื้อรังและไม่สามารถรักษาให้หายขาดไปได้ ดังนั้น จึงมีงานค้นคว้ามากมายที่พยายามหาแนวทางรักษาภาวะความดันโลหิตสูง

การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เชื่อว่าอาจช่วยรักษาความดันโลหิตสูงได้ จึงมีการทดลองที่ใช้อาหารชนิดต่าง ๆ เพื่อหาประสิทธิผลในการลดระดับความดันโลหิต ปลาหมึกก็เป็น 1 ในอาหารที่ถูกนำมาทดลองด้วยเช่นกัน โดยมีงานวิจัยหนึ่งที่ให้หนูทดลองรับประทานโปรตีนที่มีฤทธิ์ต้านเอนไซม์ ACE ซึ่งสกัดได้จากส่วนกล้ามเนื้อของปลาหมึกกระดอง พบว่าสารดังกล่าวช่วยลดระดับความดันซิสโตลิกหรือความดันขณะหัวใจบีบตัวลงได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยผลลัพธ์นี้อาจเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการรักษาภาวะความดันโลหิตสูง และป้องกันโรคร้ายต่าง ๆ ที่อาจเกิดจากความดันโลหิตสูงได้ในอนาคต

แม้จะปรากฏประสิทธิผลของการบริโภคปลาหมึกต่อการลดระดับความดันโลหิต แต่มีเพียงระดับความดันซิสโตลิกที่ลดลง อีกทั้งยังเป็นงานวิจัยขนาดเล็กที่ทดลองในสัตว์เท่านั้น จึงควรค้นคว้าทดลองในมนุษย์และขยายกลุ่มทดลองให้มีขนาดใหญ่ เพื่อยืนยันประสิทธิผลจากการบริโภคปลาหมึกให้ชัดเจนต่อไป

ปลาหมึก ช่วยสมานแผล

ร่างกายมีกระบวนการฟื้นฟูตนเองและสมานแผลให้หายดีหลังมีแผลบาดเจ็บ โดยเส้นใยคอลลาเจนซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งมีส่วนในการสมานแผลให้ขึ้นมาทดแทนบริเวณเดิม เนื่องจากปลาหมึกเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง จึงมีการศึกษาประสิทธิภาพของโปรตีนคอลลาเจนที่ได้จากผิวหนังชั้นนอกของปลาหมึกกล้วยไดมอนด์ พบว่าคอลลาเจนที่ได้จากปลาหมึกชนิดนี้เป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูสภาพผิวหนังและกระดูกของวัว

เช่นเดียวกับอีกหนึ่งงานวิจัยที่ค้นคว้าคุณสมบัติของเจลคอลลาเจนที่ได้จากผิวหนังชั้นนอกของปลาหมึกกระดองในห้องปฏิบัติการ พบว่าหลังจากทาสารชนิดนี้ แผลติดกันเร็วขึ้น ซึ่งอาจพัฒนาสารดังกล่าวไปเป็นยาสมานแผลได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การค้นคว้าข้างต้นเป็นเพียงการทดลองในสัตว์หรือศึกษาผ่านการส่องกล้องจุลทรรศน์เท่านั้น จึงไม่อาจสรุปประสิทธิผลของสารสกัดจากปลาหมึกต่อการสมานแผลได้อย่างแน่ชัดในขณะนี้ และควรศึกษาทดลองให้ชัดเจนในมนุษย์ต่อไป ทั้งในด้านประสิทธิผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยจากการใช้หรือการบริโภคปลาหมึกและผลิตภัณฑ์จากปลาหมึก ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีแผลบาดเจ็บควรรักษาแผลด้วยวิธีที่เหมาะสม และไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสมานแผลชนิดใด ๆ โดยปราศจากคำแนะนำของแพทย์