in

ประโยชน์ของลูกเกดต่อสุขภาพ

ประโยชน์ของลูกเกดต่อสุขภาพ
ลูกเกด (Raisins) เป็นหนึ่งในอาหารว่างสำหรับช่วงเวลาในการอ่านหนังสือ ดูภาพยนตร์ หรือนั่งเม้าท์มอยกับคนสนิท เพราะมีรสชาติดี ยิ่งกินก็เพลิน แต่นอกจากความอร่อยแล้ว ลูกเกดก็ยังให้ประโยชน์ดีๆ ต่อสุขภาพด้วยเหมือนกัน แต่ลูกเกดจะดีต่อร่างกายอย่างไรบ้างนั้น มาติดตามกันได้ที่บทความนี้จาก Hello คุณหมอ กัน

สารอาหารสำคัญจากลูกเกด

ลูกเกดมีสารอาหารที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายไม่น้อยไปกว่าการรับประทานผักหรือผลไม้ประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะสารอาหารหลัก ได้แก่

ไฟเบอร์

หากคุณรับประทานลูกเกดครึ่งถ้วย ร่างกายจะได้ไฟเบอร์ประมาณ 3.3 กรัม โดยไฟเบอร์หรือใยอาหารเป็นสารอาหารสำคัญที่มีส่วนช่วยในการขับถ่ายและช่วยในกระบวนการทำงานของระบบย่อยอาหาร รวมถึงยังดีต่อการลดน้ำหนักด้วยเพราะช่วยให้รู้สึกอิ่มได้นานมากขึ้น ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและระดับของ ไลโปโปรตีน (Lipoprotein)

ธาตุเหล็ก
ลูกเกดก็เป็นอีกหนึ่งแหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ถ้ากินลูกเกดครึ่งถ้วย จะได้ธาตุเหล็กประมาณ 1.3 มิลลิกรัม หรือคิดเป็นร้อยละ 7 ของปริมาณธาตุเหล็กที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน ซึ่งธาตุเหล็กนี้มีส่วนช่วยในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดงและมีส่วนช่วยในการป้องกันโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กด้วย

แคลเซียม

ไม่ใช่แค่ผลิตภัณฑ์จากนมเท่านั้นที่อุดมไปด้วยแคลเซียม เพราะหากคุณกินลูกเกด คุณก็จะได้รับแคลเซียมที่มีประโยชน์ด้วยเหมือนกัน เพราะแคลเซียมมีส่วนช่วยบำรุงให้กระดูกและฟันแข็งแรง

สำหรับสตรีที่อยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือนการรับประทานลูกเกดที่อุดมไปด้วยแคลเซียม ก็จะมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน ซึ่งเป็นอาการทางสุขภาพในกลุ่มคนที่มีอายุมากขึ้น โดยลูกเกดครึ่งถ้วยสามารถให้แคลเซียมสูงถึง 45 มิลลิกรัม หรือคิดเป็นร้อยละ 4 ของปริมาณแคลเซียมที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน

สารต้านอนุมูลอิสระ

เรามักจะพบสารต้านอนุมูลอิสระได้จากอาหารจำพวกผักและผลไม้ รวมถึงผลไม้อบแห้งอย่างลูกเกดด้วย ร่างกายของเราจำเป็นจะต้องได้รับสารต้านอนุมูลอิสระเพื่อทำหน้าที่ในการปกป้องเซลล์ต่างๆ ของร่างกายไม่ให้ถูกทำลายจากสิ่งแปลกปลอม หรืออนุมูลอิสระที่เข้าสู่ร่างกาย รวมถึงยังช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งอีกด้วย

ในลูกเกดจะให้สารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มของ ไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrients) ที่มีส่วนช่วยในการป้องกันความเสียหายต่อระบบเซลล์และดีเอ็นเอ รวมถึงยังมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็ง โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมองด้วย