in

เต้าหู้กับสุขภาพ

เต้าหู้กับสุขภาพ

1. อุดมด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์

เต้าหู้มีโปรตีนสูง ซึ่งประกอบด้วยกรดอะมิโนจำเป็นทั้ง 9 ชนิดที่ร่างกายต้องการอย่างครบถ้วน จึงเหมาะกับผู้ที่รับประทานเต้าหู้แทนเนื้อสัตว์ นอกจากนี้ เต้าหู้มีแร่ธาตุต่าง ๆ มากมาย แต่ให้พลังงาน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และโซเดียมต่ำ จึงเหมาะกับคนรักสุขภาพ และผู้ที่ลดน้ำหนัก

เต้าหู้แต่ละชนิดจะให้สารอาหารที่ต่างกัน เต้าหู้ชนิดนิ่มจะให้พลังงานและสารอาหารต่าง ๆ น้อยกว่าเต้าหู้แข็ง เพราะมีน้ำเป็นส่วนประกอบมากกว่า โดยเต้าหู้ขาวชนิดแข็ง 100 กรัม ให้พลังงานและสารอาหาร ดังนี้

พลังงาน 145 กิโลแคลอรี่
โปรตีน 20 กรัม
ไขมัน 9 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 3 กรัม
แมกนีเซียม 60 กรัม
โพแทสเซียม 240 กรัม
ซีลีเนียม 17 กรัม
ไฟเบอร์ 3 กรัม
เหล็ก 3 กรัม
2. ป้องกันโรคเบาหวาน

ผลการวิจัยพบว่า ผู้ที่รับประทานเต้าหู้เป็นประจำจะช่วยป้องกันการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ และผู้ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ที่รับประทานอาหารที่มีโปรตีนจากถั่วเหลืองเป็นเวลา 6 สัปดาห์ จะมีระดับน้ำตาลในเลือดและอินซูลิน (Insulin) ต่ำกว่าผู้ที่ไม่รับประทานโปรตีนจากถั่วเหลือง โดยคาดว่าเป็นผลจากสารไอโซฟลาโวน (Isoflavones) ที่พบในเต้าหู้

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยบางส่วนไม่พบความเกี่ยวข้องโดยตรงระหว่างการรับประทานเต้าหู้และการป้องกันโรคเบาหวาน จึงควรรอผลการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต

3. ลดคอเลสเตอรอล

การรับประทานอาหารที่ทำจากถั่วเหลืองที่ให้โปรตีนอาจช่วยลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ได้ 3–4% และช่วยลดระดับของคอเลสเตอรอลโดยรวมได้ เช่นเดียวกับไอโซฟลาโวนที่พบในถั่วเหลืองอาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้เช่นกัน

4. ป้องกันโรคหัวใจ

คอเลสเตอรอลสูงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ โปรตีนและไอโซฟลาโวนจากเต้าหู้มีคุณสมบัติลดคอเลสเตอรอล จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจได้ ผลการวิจัยพบว่าการรับประทานอาหารที่ทำจากถั่วเหลืองบางชนิด เช่น เต้าหู้ อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจน้อยกว่าผู้ที่กินถั่วเหลืองน้อยกว่าเดือนละครั้ง

นอกจากนี้ การรับประทานเต้าหู้ที่มีทั้งโปรตีน และไอโซฟลาโวนอาจช่วยในการทำงานของหัวใจได้ดีกว่าการรับประทานอาหารเสริมที่สกัดจากถั่วเหลือง

5. บรรเทาอาการหมดประจำเดือน

หญิงวัยทองหรือผู้ที่เข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือน รังไข่จะหยุดทำงานและผลิตฮอร์โมนเพศอย่างเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนลดลง ทำให้มีอาการหมดประจำเดือน ร้อนวูบวาบ อารมณ์แปรปรวน และมีเหงื่อออกในตอนกลางคืน

ผลการวิจัยพบว่าการรับประทานอาหารที่ทำจากถั่วเหลืองที่มีไอโซฟลาโวนอาจช่วยลดอาการร้อนวูบวาบได้ถึง 84% และอาจช่วยบรรเทาอาการในระยะเริ่มต้นของวัยหมดประจำเดือน (Perimenopause) ได้ เนื่องจากไอโซฟลาโวนมีคุณสมบัติคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน

6. ต้านมะเร็งบางชนิด

ไอโซฟลาโวนที่พบในเต้าหู้มีส่วนช่วยยับยั้งการลุกลาม หรือป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมซ้ำ โดยผู้หญิงที่รับประทานเต้าหู้เป็นประจำอาจมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมน้อยกว่าผู้หญิงที่ไม่กินเต้าหู้ถึง 32% และผู้หญิงวัยทองที่รับประทานอาหารที่มีถั่วเหลืองเป็นส่วนประกอบทั้งก่อนและหลังการวินิจฉัยพบมะเร็งเต้านม อาจมีโอกาสน้อยกว่า 28% ที่จะกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำหลังจากรักษาหายขาด

นอกจากนี้ การรับประทานเต้าหู้อาจช่วยป้องกันมะเร็งชนิดอื่น เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่ยังคงต้องรอการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป

7. ป้องกันโรคกระดูกพรุน

ไอโซฟลาโวนมีส่วนช่วยลดการเสื่อมของกระดูก และยังช่วยเพิ่มความหนาแน่นของแร่ธาตุในกระดูก ช่วยให้กระดูกแข็งแรงขึ้น และอาจช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน โดยเฉพาะผู้ที่เข้าสู่วัยทอง เนื่องจากร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง แต่ยังคงต้องรอการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์ของเต้าหู้ต่อการบำรุงกระดูกเพิ่มเติม