in

ประโยชน์ของข้าวโพดต่อสุขภาพ

ประโยชน์ของข้าวโพดต่อสุขภาพ
-สารต้านอนุมูลอิสระ ข้าวโพดอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดที่ช่วยป้องกันหรือยับยั้งความเสียหายของเซลล์ที่เกิดขึ้นจากอนุมูลอิสระ อันเป็นปัจจัยก่อโรคต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือด เป็นต้น โดยข้าวโพดหวานที่คนส่วนใหญ่นิยมรับประทานประกอบด้วยกรดเฟอรูลิก (Ferulic Acid) และสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มแคโรทีนอยด์ (Carotenoids) ซึ่งเป็นสารสีที่ให้สีเหลือง สีส้ม และสีแดงแก่พืชที่ได้พบในข้าวโพด เช่น ซีแซนทิน (Zeaxanthin) ลูทีน (Lutein) คริปโตแซนทิน (Cryptoxanthin) และเบต้าแคโรทีน (Beta Carotene)
สารโภชนาการเหล่านี้ที่พบในข้าวโพดทำให้เชื่อว่าข้าวโพดอาจดีต่อสุขภาพร่างกายด้านต่าง ๆ และอาจมีประสิทธิภาพป้องกันการเกิดโรคบางอย่างได้ อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์บางส่วนค้นคว้าเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของข้าวโพดในแง่มุมต่าง ๆ ไว้ ดังนี้
-บำรุงสายตา ข้าวโพดเป็นธัญพืชที่มีวิตามินเอค่อนข้างสูง ซึ่งจำเป็นต่อสุขภาพของดวงตาและช่วยให้ประสิทธิภาพในการมองเห็นดีขึ้น โดยข้าวโพดมีวิตามินเอสูงกว่าธัญพืชชนิดอื่นถึง 10 เท่า และยังมีสารคริปโตแซนทินและเบต้าแคโรทีนที่เป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะถูกเปลี่ยนเป็นวิตามินเอให้ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ โดยมีงานวิจัยหนึ่งให้เด็กอายุ 4-8 ปี จำนวน 1,024 คน ที่เสี่ยงต่อภาวะขาดวิตามินเอหรือป่วยเป็นภาวะนี้รับประทานข้าวโพดวันละ 2 ครั้ง ครั้งละ 200 กรัม เป็นเวลา 6 วัน/สัปดาห์ ติดต่อกัน 6 เดือน และเปรียบเทียบการตอบสนองต่อแสงของรูม่านตาทั้งก่อนและหลังการทดลอง พบว่าเด็กที่รับการทดลองมีระดับการตอบสนองต่อแสงของรูม่านตาดีขึ้น แต่ข้าวโพดที่ใช้ในงานวิจัยเป็นสายพันธุ์ที่ได้รับการปรับปรุงให้มีเบต้าแคโรทีนสูงกว่าสายพันธุ์ทั่วไป โดยมีปริมาณเบต้าแคโรทีนอยู่ที่ 15 ไมโครกรัม/น้ำหนัก 1 กรัม จึงไม่สามารถนำงานวิจัยนี้มายืนยันประสิทธิภาพของข้าวโพดที่ไม่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์ได้จนกว่าจะมีการทดลองที่แน่ชัดต่อไป
นอกจากวิตามินเอ สารซีแซนทินและลูทีนในข้าวโพดอาจมีประโยชน์ต่อดวงตาเช่นกัน เพราะมีสารทั้ง 2 ชนิดนี้สะสมอยู่บริเวณจอประสาทตาในปริมาณสูง และเชื่อว่าโรคจอประสาทตาเสื่อมที่มักเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุอาจเกี่ยวข้องกับการได้รับสารซีแซนทินและลูทีนไม่เพียงพอ โดยมีงานวิจัยที่เก็บข้อมูลการรับประทานอาหารของผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมอายุระหว่าง 55-80 ปี จำนวน 356 คน พบว่าผู้ป่วยที่รับประทานอาหารซึ่งมีสารกลุ่มแคโรทีนอยด์ โดยเฉพาะสารซีแซนทินและลูทีนในปริมาณมากที่สุด มีความเสี่ยงต่อโรคจอประสาทตาเสื่อมต่ำกว่ากลุ่มที่รับประทานซีแซนทินและลูทีนในปริมาณน้อยที่สุดถึง 43 เปอร์เซ็นต์ จึงอาจกล่าวได้ว่าการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยซีแซนทินและลูทีนอย่างข้าวโพดมีแนวโน้มช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ แต่งานวิจัยดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้กลุ่มตัวอย่างรับประทานข้าวโพดเพียงอย่างเดียว จึงควรค้นคว้าวิจัยในด้านนี้ต่อไปโดยเจาะจงที่การบริโภคข้าวโพดเพียงอย่างเดียว เพื่อยืนยันประสิทธิผลของข้าวโพดซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันหรือรักษาโรคตาในอนาคต
ส่งเสริมการทำงานของระบบขับถ่าย ข้าวโพดอุดมไปด้วยเส้นใยอาหารในปริมาณสูง และส่วนใหญ่เป็นเส้นใยชนิดไม่ละลายน้ำ ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ให้มีการบีบตัวได้ดี และช่วยบรรเทาอาการผิดปกติทางลำไส้ เช่น ท้องผูก ริดสีดวง และภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้ เป็นต้น การรับประทานข้าวโพดจึงอาจช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น และอาจช่วยป้องกันโรคระบบทางเดินอาหารได้ด้วย