in

แตงโมกับสุขภาพ

แตงโมกับสุขภาพ

แตงโมนับเป็นผลไม้ที่ผู้คนนิยมรับประทานคลายร้อน เนื่องจากมีรสชาติหวานฉ่ำ อีกทั้งหลายคนยังเชื่อว่ามีสรรพคุณช่วยรักษาและเสริมสร้างสุขภาพด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้เลือดไหลเวียน รวมทั้งเสริมสร้างสมรรถภาพการเคลื่อนไหวร่างกาย โดยความเชื่อเหล่านี้จะช่วยได้จริงหรือไม่ ได้มีผู้ทำการศึกษาเพื่อหาข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ในแง่มุมที่หลากหลาย ดังนี้

ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด คุณประโยชน์ของแตงโมต่อสุขภาพที่ผู้คนเชื่อกันอย่างแพร่หลายนั้นคือช่วยลดไขมันอันเป็นวิธีป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด เนื่องจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมีปัจจัยเสี่ยงมาจากภาวะไขมันในเลือดสูงและความหลากหลายทางพันธุกรรม อีกทั้งแตงโมมีสารซิทรูลีน (Citrulline) และสารอาร์จินีน (Arginine) ที่ช่วยลดไขมันในเลือด งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้แสดงให้เห็นว่าการบริโภคอาหารที่เติมสารสกัดจากแตงโมเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยรักษาภาวะไขมันในเลือดสูง ซึ่งลดโอกาสเสี่ยงเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยแบ่งผู้ป่วยภาวะไขมันในเลือดสูงออกเป็นกลุ่มทดลองจำนวน 22 ราย และกลุ่มควบคุมจำนวน 21 ราย และให้กลุ่มทดลองรับประทานสารสกัดแตงโมวันละ 6 กรัม ส่วนกลุ่มควบคุมรับประทานอาหารเสริมคาร์โบไฮเดรต การทดลองใช้เวลา 42 วัน พบว่ากลุ่มทดลองมีระดับคอเลสเตอรอลทั้งหมดและไขมันชนิดไม่ดีลดลง โดยไม่ทำให้ค่าไตรกลีเซอร์ไรด์ ไขมันดี และไขมันที่มีไลโปโปรตีนต่ำเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ แตงโมยังมีอุดมไปด้วยไลโคปีน ซึ่งเชื่อว่าช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและการเกิดปฏิกิริยาระหว่างไขมันกับออกซิเจนในร่างกาย อันเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด อย่างไรก็ดี งานวิจัยที่ทำการศึกษาประเด็นนี้กลับแสดงให้เห็นว่าไลโคปีนในแตงโมไม่ได้ส่งผลต่อความเข้มข้นของไขมันในเลือดหรือสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย โดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองที่มีสุขภาพดีแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่รับประทานอาหารไลโคปีนต่ำโดยไม่เติมไลโคปีนเพิ่มลงไป และกลุ่มที่รับประทานน้ำมะเขือเทศหรือน้ำแตงโมที่มีไลโคปีน 20 มิลลิกรัม เพื่อดูว่าการรับประทานอาหารที่มีไลโคปีนจะช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้หรือไม่ ผลการทดลองพบว่าไลโคปีนไม่ได้ส่งผลต่อระดับความเข้มข้นของไขมันและสารต้านอนุมูลอิสระในร่างกาย โดยผู้เข้าร่วมการทดลองเพศหญิงมีระดับความเข้มข้นของคอเลสเตอรอลทั้งหมด ไขมันดี และไตรกลีเซอร์ไรด์มากกว่าผู้เข้าร่วมการทดลองเพศชาย

ต้านอนุมูลอิสระ คุณประโยชน์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของแตงโมคือต้านอนุมูลอิสระ เนื่องจากแตงโมมีสารอาหารสำคัญที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ คือ สารโพลีฟีนอล สารนี้จะป้องกันสารอนุมูลอิสระไม่ให้ทำลายเซลล์ในร่างกาย ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ที่ก่อให้เกิดการเจริญของมะเร็ง รวมทั้งตรวจหาสารที่อาจก่อให้เกิดเซลล์มะเร็ง ส่งผลให้ผู้คนรับประทานแตงโมเพื่อให้ได้รับประโยชน์ดังกล่าว ทั้งนี้ งานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ศึกษาคุณสมบัติการต้านอนุมูลอิสระและสารโพลีฟีนอลที่สกัดจากเมล็ดพืช 5 ชนิด ได้แก่ ส้ม ข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี พุทธรักษา พริกขี้หนู และแตงโม พบว่าสารสกัดจากพืชทั้งหมดมีสารต้านอนุมูลอิสระ สารโพลีฟีนอล และฟลาโวนอยด์ในระดับสูง อย่างไรก็ดี สารสกัดจากเมล็ดแตงโมอาจไม่ได้มีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระเทียบเท่ากับสารสกัดจากเมล็ดพืชชนิดอื่น โดยพุทธรักษามีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงมาก ข้าวบาร์เลย์มีฤทธิ์ยับยั้งการแตกทำลายของเซลล์เม็ดเลือดแดงสูงที่สุด และพริกขี้หนูมีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดปฏิกิริยาระหว่างออกซิเจนกับกรดไขมันไลโนเลนิกมากที่สุด