ยากันยุง ใช้อย่างไรให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ
ยากันยุงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกันยุงกัด หากอาศัยอยู่ในสภาพอากาศร้อนชื้นที่เหมาะแก่การเพาะพันธุ์ของยุงและเสี่ยงเกิดโรคที่มียุงเป็นพาหะหลายชนิด ทว่าสารเคมีสังเคราะห์หรือแม้แต่สารสกัดจากธรรมชาติที่เป็นส่วนประกอบในยากันยุงนั้น นอกจากไม่เป็นมิตรกับยุงแล้ว อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้ใช้ได้เช่นกัน การเลือกซื้อยากันยุงให้เหมาะสมกับการใช้และศึกษาวิธีใช้อย่างถูกต้องจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ
คำแนะนำในการเลือกซื้อและการใช้ยากันยุงชนิดทา มีดังนี้
-ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) และปฏิบัติตามฉลากแนะนำการใช้อย่างเคร่งครัด
-ไม่ควรใช้ยาทากันยุงที่มีส่วนผสมของดีอีอีที เอทิลบิวทิลอเซติลามิโนโพรพิโนเอตหรือพิคาดิริน มากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เพราะความเข้มข้นของสารเคมีในระดับดังกล่าวไม่ได้ช่วยให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงมากขึ้นและอาจเป็นพิษต่อร่างกายได้
-ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี ทายากันยุง
-ควรคอยเฝ้าดูขณะเด็กใช้ยาทากันยุง และหลีกเลี่ยงการทายากันยุงบริเวณมือเด็ก เพราะเสี่ยงต่อการนำนิ้วเข้าปากหรือขยี้ตา
-ไม่ควรทายากันยุงบริเวณที่เป็นแผลหรือเป็นผื่น
-ไม่ควรใช้สเปรย์กันยุงฉีดใบหน้าโดยตรง ควรฉีดพ่นลงบนฝ่ามือก่อนนำมาทาบนใบหน้า
หลีกเลี่ยงการทาบริเวณรอบดวงตาและริมฝีปาก
-ฉีดพ่นสเปรย์กันยุงในสถานที่ที่อากาศถ่ายเทสะดวก เพื่อให้สารเคมีระเหยออกไปได้ง่าย ป้องกันการสูดดม
-ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสูตรผสมระหว่างครีมกันแดดและยาทากันยุง เพราะอาจทำปฏิกิริยาต่อกันจนส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ชนิดมีประสิทธิภาพลดลง อีกทั้งการทายากันยุงซ้ำบ่อย ๆ อาจทำให้ได้รับสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมากเกินไป
ยาจุดกันยุง มีทั้งชนิดแท่งและชนิดขดกลม ส่วนใหญ่มีสารในกลุ่มไพรีทอยด์เป็นองค์ประกอบหลักซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ยุงเป็นอัมพาต ทว่าบางผลิตภัณฑ์อาจเป็นสูตรผสมระหว่างสารเคมีกับสารสกัดจากธรรมชาติหรือใช้สารสกัดจากธรรมชาติเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ การสูดดมควันของยาจุดกันยุงอาจทำให้เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ไอ หรือรู้สึกเจ็บคอ และหากสูดดมติดต่อกันเป็นเวลานานอาจส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ก่อให้เกิดอาการแพ้ หรือเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไป ทว่าโดยทั่วไปพบผู้ป่วยที่ได้รับอันตรายจากสารชนิดนี้น้อยมาก
วิธีเลือกซื้อและใช้ยาจุดกันยุงอย่างถูกต้อง มีดังนี้
-ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) และปฏิบัติตามฉลากอย่างเคร่งครัด
-ไม่ควรใช้ยาจุดกันยุงในสถานที่ปิด เช่น ภายในบ้านหรือห้องพัก ควรจุดยาไว้นอกประตูหรือนอกหน้าต่างเพื่อป้องกันยุงเข้ามาภายในห้อง
-วางยาจุดกันยุงที่จุดไฟแล้วไว้บนจานหรือแท่นเสียบโลหะ ให้ห่างจากมือเด็กและสิ่งของที่ติดไฟง่าย
-ล้างมือหลังจากสัมผัสผลิตภัณฑ์ยาจุดกันยุงทุกครั้ง