ข่า กับสรรพคุณทางยารักษาโรค
รักษากลากเกลื้อน มีการแนะนำให้ใช้ข่าปอกเปลือกฝานเป็นแว่นหรือทุบพอแตก นำไปแช่เหล้าขาวหรือแอลกอฮอล์ทิ้งไว้สัก 1 คืน แล้วใช้ทาบริเวณที่เป็นกลากหรือเกลื้อนแรง ๆ ทำซ้ำ 4-5 วัน จะช่วยให้โรคผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อราอย่างกลากหรือเกลื้อนดีขึ้นได้ ซึ่งคุณสมบัติในด้านการฆ่าเชื้อราของข่านั้นมีงานวิจัยพบว่าสารสกัดจากเหง้าข่าแห้งมีคุณสมบัติในการต่อต้านเชื้อรา Trichophyton Mentagrophytes ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคกลาก โดยพบว่าในสารสกัดจากข่ามีสารออกฤทธิ์บางชนิดที่ช่วยต้านเชื้อรา และในข่าแห้ง 1 แผ่นบาง ๆ จะมีสารนี้ 1.5 เปอร์เซ็นต์
ขับลม บรรเทาอาการอาหารไม่ย่อย เชื่อกันว่าข่ามีฤทธิ์ช่วยขับลมในระบบย่อยอาหาร บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ บ้างกล่าวว่าให้นำเหง้าข่าสด 5 กรัม หรือเหง้าแห้ง 2 กรัม ต้มน้ำจนเดือดแล้วดื่ม บ้างก็แนะนำให้ใช้หัวข่าตำละเอียด นำมาผสมน้ำปูนใส 2 แก้วดื่มรักษาอาการแน่นจุกเสียดจากอาหารไม่ย่อย แต่ด้วยงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่ค่อยมีการกล่าวถึงคุณสมบัติด้านการขับลมของข่า หากอยากลองใช้ข่าเพื่อขับลมหรือบรรเทาอาการอาหารไม่ย่อยจึงควรคำนึงถึงความเหมาะสมของการใช้ เช่น ใช้ที่ปริมาณแต่พอดีและไม่ใช้ต่อเนื่องยาวนานเกินไป
บรรเทาอาการปวด ภายในเหง้าข่าอาจมีสารบางชนิดที่ช่วยลดการอักเสบ ข้อมูลสนับสนุนสรรพคุณนี้ของข่ามีการรวบรวมการศึกษาที่พิสูจน์ประสิทธิภาพด้านการลดความเจ็บปวดของพืชในวงศ์ขิง ได้แก่ ขมิ้นชัน ขิง และข่า โดยพบว่าสารสกัดจากพืชเหล่านี้ต่างมีประสิทธิภาพช่วยลดอาการเจ็บปวดเรื้อรังของผู้ป่วยได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ งานวิจัยต่าง ๆ ยังพบว่าเมื่อเทียบกับยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์ พืชในวงศ์ขิงจะมีประสิทธิภาพในการรักษาเทียบเท่าและยังปลอดภัยกว่า เพราะไม่ทำให้เสี่ยงต่อภาวะเกี่ยวกับโรคไตอย่างการใช้ยาแก้อักเสบชนิดไม่มีสเตียรอยด์