เวลาทอง คืออะไร ช่วงไหนคือเวลาทอง
7.00 น. และ 17.00 น. ช่วงเวลาฝึกวินัยและความรับผิดชอบ
ช่วงเวลาเช้าก่อนที่เด็ก ๆ ทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และช่วงเวลาเย็นหลังกิจกรรมการเรียนรู้ เป็นช่วงเวลาที่ดีที่พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถส่งเสริมกิจกรรม และฝึกความรับผิดชอบให้กับเด็ก ๆ ตั้งแต่การรับผิดชอบต่อตนเอง เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน หรือการช่วยเหลืองานบ้าน และรวมถึงการรับประทานอาหารให้ตรงเวลา นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้เล่นและมีความสุขอยู่กับหน้าจอ (ที่เขารัก) ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่จำเป็นจะต้องกำหนดเวลาและกติกาการใช้หน้าจอให้ชัดเจน และควรฝึกให้เป็นนิสัย
8.00 น. และ 14.00 น. สมองยังไม่พร้อมควรกระตุ้นด้วยการเล่น
ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่สมองของเด็ก ๆ ยังไม่พร้อมกับการเรียนรู้ ดังนั้น ควรจัดตารางกิจกรรมในช่วงเวลานี้สำหรับให้เด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นสมอง ซึ่งกิจกรรมที่ง่ายที่สุดและสร้างความสนุกและความผ่อนคลายให้กับเด็กจากความเครียดคือ การให้เด็ก ๆ ได้ออกไปเล่น หรือแม้นกระทั่งการเดินเล่นก็เป็นกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นสมองของเด็ก ๆ ได้ดีเช่นกัน โดยผลจากการศึกษาวิจัยด้วยการสแกนคลื่นสมองของเด็ก พบว่า การให้เด็กได้ออกไปเดินเล่นเพียง 20 นาที สามารถช่วยกระตุ้นให้สมองของเด็กมีความพร้อมกับการเรียนรู้ได้มากยิ่งขึ้น
9.00 – 11.00 น. และ 15.00 น. ช่วงเวลาทองของการเรียนรู้
หลายคนอาจจะเข้าใจว่าช่วงเวลาเช้า 8.00 – 9.00 น. สมองของเด็ก ๆ พร้อมกับการเรียนรู้ได้ดีที่สุด แต่ในความจริงแล้วช่วงเวลาซึ่งเรียกได้ว่าเป็น “เวลาทอง” คือสมองของเด็กมีความพร้อมกับการเรียนรู้มากที่สุดคือช่วงเวลา 9.00 – 11.00 น. และ 15.00 น. ซึ่งในช่วงเวลานี้เราควรให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ในวิชาที่ยากและต้องใช้สมองเพื่อการคิดวิเคราะห์ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เป็นต้น
13.00 น. ช่วงเลาแห่งจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
ในช่วงเวลาบ่ายโมงเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายต้องใช้พลังงานจำนวนมากเพื่อมาเผาผลาญอาหารที่เด็ก ๆ ได้รับประทานเข้าไป จึงไม่เหมาะสมที่จะให้เด็กเรียนรู้วิชาที่ยาก ในช่วงเวลานี้จึงเหมาะสมอย่างมากที่จะส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมที่ช่วยฝึกความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ รวมถึงกิจกรรมศิลปะและดนตรี อันจะช่วยเติมเต็มความสุขและรอยยิ้มให้กับเด็ก ๆ ได้อีกทางหนึ่งด้วย
16.00 น. ออกกำลังกายเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก
กิจกรรมทางกายนั้นมีความสำคัญอย่างมากต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตที่สมวัยของเด็ก ๆ นอกจากเด็ก ๆ จะต้องมีกิจกรรมทางกายระดับปานกลางถึงหนักให้ได้อย่างน้อย 60 นาทีทุกวันแล้ว เด็ก ๆ จำเป็นจะต้องทำกิจกรรมทางกายที่ช่วยเสริมความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้ออย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งกิจกรรมทางกายเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ช่วยดึงเด็กให้ออกมาจากการอยู่กับหน้าจอได้เป็นอย่างดี และหากเป็นไปได้พ่อแม่ผู้ปกครองควรมีส่วนร่วมในการเล่น หรือสนับสนุนการเล่นของเด็ก ๆ